วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2553

มาตรฐานการบัญชีไทยในปัจจุบัน

Update ข่าวบัญชี
มาตรฐานบัญชีไทยตกชั้นสากล และการปฏิบัติตามมาตรฐาน IAS 39

แหล่งข้อมูลความรู้ทางบัญชี - Update ข่าวสารการบัญชี
ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ฯ (PWC, หนึ่งในสำนักบัญชีระดับ Big 4) จี้เร่งยกเครื่อง มาตรฐานบัญชี ไทย เผยปัจจุบันยังตกชั้นสากล ส่งผลบริษัทจดทะเบียนที่จะก้าวสู่โลกภายนอกถูกดิสเคาส์ราคาหุ้น รับปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชี อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ เตรียมคลอดมาตรฐานบัญชีเพิ่มเติมอีก 28 ฉบับ เปลี่ยนโฉมงบการเงินของกิจการสะท้อนความจริงมากขึ้น จับตาบริษัทที่ใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงินกระทบแน่
มาตรฐานบัญชีของไทยในปัจจุบัน
นางสาวแน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และหุ้นส่วน บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย ในสายงานบริการการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า ปัจจุบันมาตรฐานบัญชีของไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ดังนั้นไทยนั้นควรยกระดับมาตรฐานบัญชีให้เทียบเท่าสากลในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ๆ และถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากแนวโน้มจะมีการทำธุรกิจข้ามประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่าง หากบริษัทจดทะเบียนในประเทศยังมีมาตรฐานบัญชีที่ไม่เป็นสากล อาจทำให้เสียเปรียบในการเจรจาธุรกิจ โดยอาจถูกมองแบบมีส่วนลดในราคาหุ้น(ดิสเคาส์) และหากผู้ประกอบการยังไม่พร้อมและไม่มีการปรับตัวตลาดทุนของไทยก็อาจจะด้อยกว่าประเทศอื่นได้
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 องค์กรที่จะผลักดัน ประกอบด้วย
1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ
3. สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์
สำหรับมาตรฐานบัญชีในประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นจะเห็นว่า มีความเข้มงวดในหลายๆ เรื่องค่อนข้างมาก เพื่อสร้างความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลให้กับผู้ที่ต้องใช้ข้อมูลทางบัญชีในการลงทุน และประเทศในภูมิภาคเอเชียที่มีการใช้มาตรฐานบัญชีที่ก้าวหน้าที่สุด คือ ประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่อีก 2 ประเทศ คือ จีนและฮ่องกง ปัจจุบันมีมาตรฐานทางบัญชีเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ขณะที่ประเทศอื่นๆเช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีไต้ มีนโยบายยกระดับมาตรฐานบัญชีเทียบเท่าระดับสากลภายในปี 2010( พ.ศ.2553)
นางสาวแน่งน้อย กล่าวว่า สำหรับไทยนั้น ปัจจุบันสภาวิชาชีพบัญชี ฯ อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานทางบัญชี 28 ฉบับ เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆคือ
กลุ่มที่ 1 การปรับปรุงมาตรฐานบัญชีเดิมที่มีอยู่แล้วให้ทันสมัยและเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งคาดว่าจะปฏิบัติและมีผลบังคับใช้ในปี 2551 โดยมาตรฐานบัญชีบางเรื่องมีการบังคับใช้อยู่แล้ว แต่จะปรับปรุงให้ชัดเจนขึ้น เช่น การกำหนดให้กิจการจะต้องทำประมาณการเกี่ยวกับพนักงาน(Employee benefits)ที่มาตรฐานบัญชีใหม่กำหนดให้กิจการต้องทำประมาณการอัตราการลาออกของพนักงาน อัตราการเพิ่มของเงินเดือน และจัดกลุ่มพนักงานที่คาดว่าจะอยู่กับบริษัทไปจนจะเกษียณ แล้วคิดเป็นอัตราในแต่ละปี เพื่อตั้งสำรองหนี้สินส่วนที่จะเกิดขึ้น
ซึ่งการทำประมาณการเกี่ยวกับพนักงานจะทำให้กิจการสะท้อนภาพที่แท้จริงได้มากขึ้น สำหรับธุรกิจที่จะไดรับผลกระทบคือ บริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก หรือบริษัทที่มีพนักงานอายุต่ำ และจะต้องอยู่กับกิจการไปจนเกษียณอายุการทำงาน เช่น ธุรกิจโทรคมนาคม รัฐวิสาหกิจ
นอกจากนี้จะมีการปรับเปลี่ยนเรื่อง ภาษีเงินได้รอจัดจ่าย (Deferred income tax) ,การกำหนดเรื่องสินทรัพย์ไม่มีตัวตนสุทธิ ให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ค่าความนิยม ใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ และมาตรฐานบัญชีการลงเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
กลุ่มที่ 2 เป็นมาตรฐานทางบัญชีใหม่ที่จะนำมาบังคับใช้ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2552 เช่น มาตรฐานบัญชีเกี่ยวกับการบันทึกรายการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน, มาตรฐานบัญชีเกี่ยวกับธุรกิจประกันภัยซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการระบุรูปแบบที่ชัดเจน, มาตรฐานบัญชีสินค้าเกษตรกรรมซึ่งจะให้มีการบันทึกสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของสินค้าเกษตรกรรม เช่น มูลค่าของต้นไม้ โดยจะทำให้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในขณะนั้นๆสามารถสะท้อนราคาที่แท้จริงได้มากขึ้น, มาตรฐานบัญชีเกี่ยวกับการบันทึกผลตอบแทนให้พนักงานหรือกรรมการบริษัทในรูปของการให้หุ้น( ESOP )ที่ต้องบันทึกบัญชีในวันที่มีการประกาศให้ผลตอบแทนดังกล่าวโดยทันที ขณะที่ปัจจุบันจะบันทึกบัญชีก็ต่อเมื่อมีการใช้สิทธิ์
มาตรฐานบัญชีใหม่ จะทำให้งบการเงินของกิจการสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น จากการเปลี่ยนแนวคิดการบันทึกบัญชีเป็นมูลค่ายุติธรรม(Fair value)จากเดิมที่ใช้ราคาทุน (Historical costs)อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีข้อถกเถียงกันในกลุ่มผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการประเมินราคาเหมาะสมของสินทรัพย์ที่ค่อนข้างทำได้ยาก เนื่องจากประเทศไทยยังไม่สามารถหาตลาดที่กำหนดราคากลางของสินค้าได้ครอบคลุมเหมือนต่างประเทศ นางสาวแน่งน้อยกล่าว
สำหรับกลุ่มที่ 3 เป็นมาตรฐานทางบัญชีเกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2553 โดยเป็นมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งเป็นการปรับปรุงมาตรฐานบัญชี 4 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูล การปรับโครงสร้างหนี้ และการลงทุนในเครื่องมือทางการใหม่ๆ มารวมกันเหลือ 3 ฉบับคือ IAS 32, IAS 39 และ IFRS 7 ซึ่งทั้ง 3 ฉบับ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเครื่องมือทางการเงิน
นางอุณากร พฤติธาดา ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและหุ้นส่วน บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ ฯ กล่าวว่า กิจการที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องมือทางการเงิน คือ บริษัทที่มีสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงินจำนวนมาก คือ สถาบันการเงิน และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบริษัทที่มีการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ด้วย เนื่องจากตามมาตรฐาน IAS 39 กำหนดให้มีการบันทึกบัญชีตราสารอนุพันธ์และให้ลงราคายุติธรรมด้วย ซึ่งเป็นราคาตลาด ดังนั้นบริษัทที่มีการใช้เครื่องป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ทั้งการซื้ออนุพันธ์ สว็อป กรณีป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน IAS 39 ด้วย

ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ
Link ที่เกี่ยวข้อง http://www.cpaccount.net/update-accounting-news/42-accounting-news-category/168--4-ias-39

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น